การยื่นภาษีเงินได้สำหรับสตรีมเมอร์
เงินโดเนททางเว็บ TipMe จะถือว่าทางผู้โดเนทจ่ายเงินซื้อสินค้าหรือบริการโดเนทขึ้นหน้าจอกับทางสตรีมเมอร์โดยตรง ไม่ใช่ทาง TipMe จ่ายเงินให้ทางสตรีมเมอร์ จากนั้นทางสตรีมเมอร์นำเงินมาชำระค่าบริการกับ TipMe ดังนั้นเงินได้คือยอดโดเนททั้งหมด ก่อนหักค่าบริการ
สตรีมเมอร์ทุกคนที่มีเงินได้รวมมากกว่า 60,000 บาทต่อปี (รวมทุกช่องทางรายได้) จะต้องยื่นภาษีเงินได้ประจำปี
สตรีมเมอร์บุคคลธรรมดา
เงินได้จากการรับโดเนทจะเป็นเงินได้ประเภท 40 ( 8 ) เงินได้จากธุรกิจ
เงินได้ที่มาจากอาชีพอิสระ จะต้องยื่นภาษีปีละ 2 ครั้ง คือ
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) ของรายได้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน จะต้องยื่นภายในวันที่ 30 กันยายน ต้องยื่นเฉพาะเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท (ก่อนหักค่าบริการ TipMe และไม่รวมรายได้จากงานประจำ)
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) ของรายได้ทั้งปี จะต้องยื่นภายในวันที่ 31 มีนาคมของปีต่อไป ต้องยื่นเมื่อมีเงินได้ ทั้งปี (รวมที่ยื่นไปแล้วในรอบครึ่งปี) เกิน 60,000 บาท (ก่อนหักค่าบริการ TipMe และ รวม รายได้จากงานประจำ)
การยื่นภาษีจะต้องยื่นที่เว็บไซต์ของ กรมสรรพากร หรือที่สำนักงานกรมสรรพากรท้องที่
หลักการกรอกข้อมูล เป็นดังนี้ (ในกรณีที่มีรายรับเฉพาะ TipMe อย่างเดียว)
- รายได้ คือ ยอดเงินโดเนททั้งหมด (ก่อนหักค่าบริการ) โดยสามารถใช้หน้า สถิติ อ้างอิงรายรับได้
- หักค่าใช้จ่ายตามจริง คือ ค่าบริการของ TipMe โดยมีหลักฐานการจ่ายเงินคือ ใบกำกับภาษี สามารถดาวน์โหลดได้ผ่านทางหน้าเว็บ
- ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ใช้ในการดำเนินงานสตรีมมิ่งสามารถรวมในค่าใช้จ่ายนี้ได้ เช่น ค่าเดินทางไปจัดรายการ ค่าไฟฟ้า ค่าอุปกรณ์สตรีมมิ่ง ค่าคอมพิวเตอร์ ค่าเกม ค่าซอฟต์แวร์อื่นที่ใช้ในการสตรีม ค่าจ้างแอดมิน ค่าจ้างทำกราฟฟิค ค่าโฆษณา โดยจะต้องมีใบเสร็จรับเงิน
- ค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสตรีมมิ่ง ไม่สามารถใช้หักค่าใช้จ่ายได้ เช่น ค่าอาหารและเครื่องดื่ม รถยนต์สำหรับใช้ส่วนตัว ทิปพนักงาน ของใช้ภายในบ้าน
- หากต้องการให้ใบเสร็จรับเงินของ TipMe ลงที่อยู่ไว้ในใบเสร็จรับเงิน สามารถติตด่อเจ้าหน้าที่เพื่อแก้ไขข้อมูล (จะมีผลเฉพาะใบเสร็จที่ออกหลังจากวันที่แจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูลเท่านั้น ไม่สามารถแก้ไขย้อนหลังได้)
- ใบกำกับภาษีของ TipMe ไม่ใช่ ประเภทใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice)
- ผู้จ่ายเงินได้ กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้โดเนทสูงสุด (Top Donator) ในปีนั้น เนื่องจากการโดเนทไม่มีการขอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้โดเนทจึงจะเป็นการขายเงินสด ไม่สามารถกรอกข้อมูลได้ ให้กรอกเป็น 0100000000000 หรือเว้นไว้ หรือเลขอื่นๆ ตามแต่ที่กรมสรรพากรกำหนด (ไม่สามารถใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของ TipMe ได้ เนื่องจาก TipMe ไม่ได้ซื้อสินค้าจากสตรีมเมอร์)
- ควรระบุเว็บไซต์เป็นลิงค์ของ Channel เพื่อให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของรายได้
ตัวอย่างการคำนวณภาษี
สามารถคำนวณภาษีโดยอัตโนมัติระหว่างการยื่นแบบภาษีออนไลน์ที่เว็บไซต์ efiling.rd.go.th ของกรมสรรพากรโดยตรง หรือสามารถคำนวณภาษีระหว่างปีผ่านเว็บไซต์อื่นๆ ในอินเตอร์เน็ตได้ เช่นเว็บไซต์ iTAX ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกรมสรรพากรหรือ TipMe
ตัวอย่างที่ 1
นาย ก สตรีมเกมเป็นงานอดิเรก มีคนโดเนทเข้ามาบ้างเล็กน้อย
- ได้รับโดเนท เดือนมกราคม - มิถุนายน รวม 10,000 บาท
- เสียค่าบริการ TipMe เดือนมกราคม - มิถุนายน 1,000 บาท
- เนื่องจากรายได้ครึ่งปีแรกไม่ถึง 60,000 บาท ไม่จำเป็นจะต้องยื่นภาษีครึ่งปี
- ได้รับโดเนท เดือนกรกฎาคม - ธันวาคม รวม 10,000 บาท
- เสียค่าบริการ TipMe เดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 1,000 บาท
- รายได้ทั้งปีของ นาย ก คือ 1 + 4 = 20,000 บาท
- เนื่องจากรายได้รวมทั้งปีไม่ถึง 60,000 บาท ไม่จำเป็นจะต้องยื่นภาษี
ทั้งนี้หากนาย ก ประกอบอาชีพอื่นๆ ด้วย จะต้องนำรายได้ช่องทางอื่นมาคิดในรอบภาษีทั้งปีด้วยว่าเกินกว่า 60,000 บาทหรือไม่
ตัวอย่างที่ 2
นาย ข สตรีมเกมเป็นประจำหลังเลิกจากงาน มียอดโดเนททุกวัน
- ได้รับโดเนท เดือนมกราคม - มิถุนายน รวม 30,000 บาท
- เสียค่าบริการ TipMe เดือนมกราคม - มิถุนายน 3,000 บาท ซื้อไมโครโฟนใหม่ 2,000 บาท
- เนื่องจากรายได้ครึ่งปีแรกไม่ถึง 60,000 บาท ไม่จำเป็นจะต้องยื่นภาษีครึ่งปี
- ได้รับโดเนท เดือนกรกฎาคม - ธันวาคม รวม 30,000 บาท
- เสียค่าบริการ TipMe เดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 3,000 บาท ซื้อคอมพิวเตอร์ใหม่ 25,000 บาท
- รายได้ทั้งปีของ นาย ข คือ 1 + 4 = 60,000 บาท
- เนื่องจากรายได้รวมทั้งปีเกิน 60,000 บาท จะต้องยื่นภาษีประจำปี
การคำนวณภาษีประจำปี ของนาย ข เป็นดังนี้
- รายได้ รวม 60,000 บาท (ก่อนหักค่าบริการ TipMe)
- ค่าใช้จ่ายตามข้อ 2 + 5 รวม 33,000 บาท (ต้องมีใบเสร็จแสดงค่าใช้จ่ายตามจริง)
- คำนวณ 1 - 2 คือ 60,000 บาท - 33,000 บาท = 27,000 บาท เป็นเงินได้สุทธิในประเภท 40 ( 8 )
- หัก ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท (ใช้สิทธิ์ได้ทุกคนสำหรับการซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน) และหากใช้สิทธิ์ลดหย่อนอื่นๆ จะนำมาหักในขั้นตอนนี้
- คำนวณ 3 - 4 คือ 27,000 บาท - 60,000 บาท = 0 บาท เป็นเงินได้สุทธิ
- เงินได้ 0 - 150,000 บาทแรกไม่เสียภาษี
ดังนั้น นาย ข จะต้องยื่นแบบภาษี ภ.ง.ด 90 ประจำปีผ่านหน้าเว็บไซต์ efiling.rd.go.th หรือยื่นที่สำนักงานพื้นที่ของกรมสรรพากร แต่ไม่ต้องชำระเงิน
ตัวอย่างที่ 3
นาย ค เป็นสตรีมเมอร์มืออาชีพ มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก
- ได้รับโดเนท เดือนมกราคม - มิถุนายน รวม 200,000 บาท
- เสียค่าบริการ TipMe เดือนมกราคม - มิถุนายน 5,000 บาท ค่าจ้างแอดมิน 10,000 บาท
- เนื่องจากรายได้ นาย ค ตามข้อ 1 เกิน 60,000 บาท จึงจะต้องยื่นภาษีครึ่งปี
กรณี นาย ค มีเงินเดือนจากงานประจำอีกทางหนึ่ง ยังไม่ต้องนำมาคิดในการยื่นภาษีครึ่งปี
การคำนวณภาษีครึ่งปีของนาย ค เป็นดังนี้
ก. รายได้ รวม 200,000 บาท (ก่อนหักค่าบริการ TipMe)
ข. ค่าใช้จ่ายตามข้อ 2 รวม 15,000 บาท
ค. คำนวณ ก - ข คือ 200,000 บาท - 15,000 บาท = 185,000 บาท เป็นเงินได้สุทธิในประเภท 40 ( 8 )
ง. หัก ค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท (ใช้สิทธิ์ได้ทุกคนสำหรับการซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน) และหากใช้สิทธิ์ลดหย่อนอื่นๆ จะนำมาหักในขั้นตอนนี้ (สามารถใช้ได้เพียงบางรายการ)
จ. คำนวณ ค - ง คือ 185,000 บาท - 30,000 บาท = 155,000 บาท เป็นเงินได้สุทธิ
ฉ. เงินได้ 0 - 150,000 บาทแรกไม่เสียภาษี คงเหลือ 155,000 - 150,000 = 5,000 บาท
ช. เงินได้ 150,000 บาทถัดไป (บาทที่ 150,001 - 300,000) เสียภาษี 5% = 5,000 บาท x 5% (0.05) = 250 บาท
ดังนั้น นาย ค จะต้องยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) และชำระภาษี 250 บาท ภายในวันที่ 30 กันยายน หากไม่ยื่นหรือยื่นล่าช้ากว่า 7 วันอาจถูกปรับ 2,000 บาท และคิดดอกเบี้ยเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย
ในครึ่งปีหลัง
- ได้รับโดเนท เดือนกรกฎาคม - ธันวาคม รวม 200,000 บาท
- เสียค่าบริการ TipMe เดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 5,000 บาท ค่าจ้างแอดมิน 10,000 บาท ค่าอัพเกรดคอมพิวเตอร์ 20,000 บาท รวม 35,000 บาท
- รายได้ทั้งปีของ นาย ค คือ 1 + 4 = 400,000 บาท
- เนื่องจากรายได้รวมทั้งปีเกิน 60,000 บาท จะต้องยื่นภาษีประจำปี
การคำนวณภาษีทั้งปีของนาย ค เป็นดังนี้
ซ. รายได้ รวมทั้งปีคือ 1 + 4 = 200,000 บาท + 200,000 บาท = 400,000 บาท (ก่อนหักค่าบริการ TipMe)
ฌ. ค่าใช้จ่ายตามข้อ 2 + 5 รวม 15,000 บาท + 35,000 บาท = 50,000 บาท
ญ. คำนวณ ช - ฌ คือ 400,000 บาท - 50,000 บาท = 350,000 บาท เป็นเงินได้สุทธิในประเภท 40 ( 8 )
ฎ. หัก ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และหากใช้สิทธิ์ลดหย่อนอื่นๆ จะนำมาหักในขั้นตอนนี้
ฏ. คำนวณ ญ - ฎ คือ 350,000 - 60,000 บาท = 290,000 บาท เป็นเงินได้สุทธิ
ฐ. เงินได้ 0 - 150,000 บาทแรก ไม่เสียภาษี คงเหลือ 290,000 - 150,000 = 140,000 บาท
ฑ. เงินได้ 150,000 บาทถัดไป (เงินได้ในส่วน 150,001 - 300,000 บาท) เสียภาษี 5% คำนวณ 140,000 x 5% (0.05) = 7,000 บาท
ฒ. หักภาษีครึ่งปีที่ชำระไว้แล้ว 250 บาทออก
ดังนั้น นาย ค จะต้องชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) เพิ่มอีก 7,000 บาท - 250 บาท = 6,750 บาท โดยสามารถยื่นภาษีครึ่งปีและทั้งปีผ่านหน้าเว็บไซต์ efiling.rd.go.th หรือยื่นที่สำนักงานพื้นที่ของกรมสรรพากร
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
หากสตรีมเมอร์ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลมีรายได้ (ก่อนหักต้นทุนหรือค่าใช้จ่าย) มากกว่า 1,800,000 บาท (1.8 ล้านบาท) ในปีนั้นๆ จะต้อง จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้วยภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่มีรายได้ครบ 1.8 ล้านบาท
เมื่อจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จะมีหน้าที่ดังนี้
- ต้องทำใบกำกับภาษีให้กับผู้โดเนททุกๆ ครั้งที่มีการโดเนท
- ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) ทุกเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
ทั้งนี้เมื่อจดภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มในค่าบริการของ TipMe สามารถใช้เป็นภาษีซื้อ (Input VAT) ได้เพื่อลดภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ
สตรีมเมอร์นิติบุคคล
สตรีมเมอร์ประเภทนิติบุคคลจะต้องดำเนินการออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีให้กับผู้โดเนทในลักษณะขายเงินสดทุกครั้งที่ได้รับการโดเนท (ไม่สามารถออกใบเสร็จรับเงินให้ทาง TipMe ได้ เนื่องจากทาง TipMe ไม่ได้ซื้อสินค้าหรือบริการจากบริษัทลูกค้า)
หากได้รับโดเนทมากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี นิติบุคคลจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับลูกค้าบุคคลธรรมดา
สำหรับใบเสร็จรับเงินค่าบริการ สามารถดาวน์โหลดได้จากทางหน้าเว็บไซต์ หรือติดต่อเจ้าหน้าดูแลความสัมพันธ์ลูกค้าหากต้องการรับใบเสร็จทางไปรษณีย์
กรณีหัก ณ ที่จ่าย ลูกค้านิติบุคคลสามารถหัก ณ ที่จ่ายค่าบริการ 3% ได้ โดยนำส่งใบ หัก ณ ที่จ่ายมาตามที่อยู่ของบริษัท หลังจากได้รับใบหัก ณ ที่จ่ายแล้วจะได้รับเงินส่วนที่หักคืนพร้อมกับยอดโดเนทในรอบถัดไป
คำถาม - คำตอบ
ขอเอกสาร ใบหักภาษี ณ ที่จ่าย
TipMe ไม่สามารถออกใบหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ได้ เนื่องจากทางบริษัทไม่ได้ซื้อสินค้าหรือบริการจากสตรีมเมอร์ โดยเอกสารทางภาษีตามกฎหมายที่ TipMe ออกให้จะมีเฉพาะใบกำกับภาษีค่าบริการเท่านั้น
การออกใบหัก ณ ที่จ่ายให้ TipMe
เฉพาะลูกค้านิติบุคคลสามารถหัก ณ ที่จ่าย 3% ในส่วนค่าบริการได้ โดยนำส่งทางไปรษณีย์ให้ TipMe และ TipMe จะคืนเงินตามส่วนที่หักไปให้พร้อมยอดโดเนทในรอบถัดไป
เอกสารแสดงรายรับ
สามารถใช้หน้า สถิติ แสดงรายรับได้สำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดา และสำหรับลูกค้านิติบุคคลสามารถส่งออกรายการโดเนททั้งหมด 3 เดือนย้อนหลังเป็น CSV ได้
ยอดโอนเงินเข้าบัญชี คือรายได้หรือไม่
ยอดโอนเงินเข้าบัญชีไม่ใช่รายได้เพราะถูกหักค่าบริการแล้ว ในการคิดภาษีจะต้องแจกแจงเป็นยอดโดเนทก่อนหักค่าบริการคือรายได้ และค่าบริการที่ถูกหักไปเป็นค่าใช้จ่าย
ผู้จ่ายเงินได้สูงสุด
การยื่นภาษีจะต้องกรอกผู้จ่ายเงินได้มากที่สุดในปีนั้น ซึ่งจะต้องกรอกข้อมูลของผู้ที่โดเนทมากที่สุด (Top donator / ท็อปโดเนท) เนื่องจากไม่มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลนี้ไว้ให้เว้นไว้หรือกรอก 0100000000000 หรือเลขอื่นตามที่กรมสรรพากรกำหนด
ความรู้ด้านภาษี
TipMe ขอแนะนำแหล่งความรู้ สรุปความรู้ภาษี โดย iTAX
ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือไม่
- กรณีสตรีมเมอร์มียอดโดเนทไม่ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มรวมในค่าบริการของ TipMe แล้ว ไม่จำเป็นต้องดำเนินการชำระเงินเพิ่มใดๆ
- กรณีสตรีมเมอร์มียอดโดเนทมากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จำเป็นจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากยอดโดเนท (ก่อนหักค่าบริการ) โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระในค่าบริการของ TipMe ไปแล้ว จะนำเป็นภาษีซื้อนำไปลดหย่อนภาษีขายได้
ทั้งนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นคนละส่วนกับภาษีเงินได้ที่จำเป็นจะต้องเสียประจำปี ไม่ถือว่าเป็นการชำระภาษีประจำปีล่วงหน้า และไม่สามารถนำไปลดหย่อนในการยื่นภาษีเงินได้ประจำปีได้
ค่าบริการที่เสียคือเสียภาษีแล้วหรือไม่
การจ่ายค่าบริการของ TipMe ไม่ใช่การเสียภาษีให้รัฐบาลของสตรีมเมอร์แต่เป็นการจ่ายเงินค่าบริการของบริษัททิปมี สตรีมเมอร์ยังมีหน้าที่จะต้องยื่นภาษีเงินได้เมื่อมีรายได้เข้าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
TipMe มีการนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรหรือไม่
TipMe มีการนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีค่าบริการให้กรมสรรพากรเพื่อชำระภาษีของบริษัท
อัปเดตเมื่อ: 02/01/2024
ขอบคุณ!