บทความเกี่ยวกับ: Legal

การยื่นภาษีเงินได้สำหรับสตรีมเมอร์

เงินโดเนททางเว็บ TipMe จะถือว่าทางผู้โดเนทจ่ายเงินซื้อสินค้าหรือบริการโดเนทขึ้นหน้าจอกับทางสตรีมเมอร์โดยตรง ไม่ใช่ทาง TipMe จ่ายเงินให้ทางสตรีมเมอร์ จากนั้นทางสตรีมเมอร์นำเงินมาชำระค่าบริการกับ TipMe ดังนั้นเงินได้คือยอดโดเนททั้งหมด ก่อนหักค่าบริการ

TipMe ไม่สามารถให้คำแนะนำทางกฎหมายหรือภาษีได้และสงวนสิทธิ์ความรับผิดชอบจากการนำข้อมูลนี้ไปใช้งาน

สตรีมเมอร์ทุกคนที่มีเงินได้รวมมากกว่า 60,000 บาทต่อปี (รวมทุกช่องทางรายได้) จะต้องยื่นภาษีเงินได้ประจำปี

สตรีมเมอร์บุคคลธรรมดา



เงินได้จากการรับโดเนทจะเป็นเงินได้ประเภท 40 ( 8 ) เงินได้จากธุรกิจ

เงินได้ที่มาจากอาชีพอิสระ จะต้องยื่นภาษีปีละ 2 ครั้ง คือ

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) ของรายได้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน จะต้องยื่นภายในวันที่ 30 กันยายน ต้องยื่นเฉพาะเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท (ก่อนหักค่าบริการ TipMe และไม่รวมรายได้จากงานประจำ)
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) ของรายได้ทั้งปี จะต้องยื่นภายในวันที่ 31 มีนาคมของปีต่อไป ต้องยื่นเมื่อมีเงินได้ ทั้งปี (รวมที่ยื่นไปแล้วในรอบครึ่งปี) เกิน 60,000 บาท (ก่อนหักค่าบริการ TipMe และ รวม รายได้จากงานประจำ)

การยื่นภาษีจะต้องยื่นที่เว็บไซต์ของ กรมสรรพากร หรือที่สำนักงานกรมสรรพากรท้องที่

หลักการกรอกข้อมูล เป็นดังนี้ (ในกรณีที่มีรายรับเฉพาะ TipMe อย่างเดียว)

รายได้ คือ ยอดเงินโดเนททั้งหมด (ก่อนหักค่าบริการ) โดยสามารถใช้หน้า สถิติ อ้างอิงรายรับได้
หักค่าใช้จ่ายตามจริง คือ ค่าบริการของ TipMe โดยมีหลักฐานการจ่ายเงินคือ ใบกำกับภาษี สามารถดาวน์โหลดได้ผ่านทางหน้าเว็บ
ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ใช้ในการดำเนินงานสตรีมมิ่งสามารถรวมในค่าใช้จ่ายนี้ได้ เช่น ค่าเดินทางไปจัดรายการ ค่าไฟฟ้า ค่าอุปกรณ์สตรีมมิ่ง ค่าคอมพิวเตอร์ ค่าเกม ค่าซอฟต์แวร์อื่นที่ใช้ในการสตรีม ค่าจ้างแอดมิน ค่าจ้างทำกราฟฟิค ค่าโฆษณา โดยจะต้องมีใบเสร็จรับเงิน
ค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสตรีมมิ่ง ไม่สามารถใช้หักค่าใช้จ่ายได้ เช่น ค่าอาหารและเครื่องดื่ม รถยนต์สำหรับใช้ส่วนตัว ทิปพนักงาน ของใช้ภายในบ้าน
หากต้องการให้ใบเสร็จรับเงินของ TipMe ลงที่อยู่ไว้ในใบเสร็จรับเงิน สามารถติตด่อเจ้าหน้าที่เพื่อแก้ไขข้อมูล (จะมีผลเฉพาะใบเสร็จที่ออกหลังจากวันที่แจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูลเท่านั้น ไม่สามารถแก้ไขย้อนหลังได้)
ใบกำกับภาษีของ TipMe ไม่ใช่ ประเภทใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice)
ผู้จ่ายเงินได้ กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้โดเนทสูงสุด (Top Donator) ในปีนั้น เนื่องจากการโดเนทไม่มีการขอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้โดเนทจึงจะเป็นการขายเงินสด ไม่สามารถกรอกข้อมูลได้ ให้กรอกเป็น 0100000000000 หรือเว้นไว้ หรือเลขอื่นๆ ตามแต่ที่กรมสรรพากรกำหนด (ไม่สามารถใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของ TipMe ได้ เนื่องจาก TipMe ไม่ได้ซื้อสินค้าจากสตรีมเมอร์)
ควรระบุเว็บไซต์เป็นลิงค์ของ Channel เพื่อให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของรายได้

ตัวอย่างการคำนวณภาษี


สามารถคำนวณภาษีโดยอัตโนมัติระหว่างการยื่นแบบภาษีออนไลน์ที่เว็บไซต์ efiling.rd.go.th ของกรมสรรพากรโดยตรง หรือสามารถคำนวณภาษีระหว่างปีผ่านเว็บไซต์อื่นๆ ในอินเตอร์เน็ตได้ เช่นเว็บไซต์ iTAX ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกรมสรรพากรหรือ TipMe

ตัวอย่างที่ 1


นาย ก สตรีมเกมเป็นงานอดิเรก มีคนโดเนทเข้ามาบ้างเล็กน้อย

ได้รับโดเนท เดือนมกราคม - มิถุนายน รวม 10,000 บาท
เสียค่าบริการ TipMe เดือนมกราคม - มิถุนายน 1,000 บาท
เนื่องจากรายได้ครึ่งปีแรกไม่ถึง 60,000 บาท ไม่จำเป็นจะต้องยื่นภาษีครึ่งปี
ได้รับโดเนท เดือนกรกฎาคม - ธันวาคม รวม 10,000 บาท
เสียค่าบริการ TipMe เดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 1,000 บาท
รายได้ทั้งปีของ นาย ก คือ 1 + 4 = 20,000 บาท
เนื่องจากรายได้รวมทั้งปีไม่ถึง 60,000 บาท ไม่จำเป็นจะต้องยื่นภาษี

ทั้งนี้หากนาย ก ประกอบอาชีพอื่นๆ ด้วย จะต้องนำรายได้ช่องทางอื่นมาคิดในรอบภาษีทั้งปีด้วยว่าเกินกว่า 60,000 บาทหรือไม่

ตัวอย่างที่ 2


นาย ข สตรีมเกมเป็นประจำหลังเลิกจากงาน มียอดโดเนททุกวัน

ได้รับโดเนท เดือนมกราคม - มิถุนายน รวม 30,000 บาท
เสียค่าบริการ TipMe เดือนมกราคม - มิถุนายน 3,000 บาท ซื้อไมโครโฟนใหม่ 2,000 บาท
เนื่องจากรายได้ครึ่งปีแรกไม่ถึง 60,000 บาท ไม่จำเป็นจะต้องยื่นภาษีครึ่งปี
ได้รับโดเนท เดือนกรกฎาคม - ธันวาคม รวม 30,000 บาท
เสียค่าบริการ TipMe เดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 3,000 บาท ซื้อคอมพิวเตอร์ใหม่ 25,000 บาท
รายได้ทั้งปีของ นาย ข คือ 1 + 4 = 60,000 บาท
เนื่องจากรายได้รวมทั้งปีเกิน 60,000 บาท จะต้องยื่นภาษีประจำปี

การคำนวณภาษีประจำปี ของนาย ข เป็นดังนี้

รายได้ รวม 60,000 บาท (ก่อนหักค่าบริการ TipMe)
ค่าใช้จ่ายตามข้อ 2 + 5 รวม 33,000 บาท (ต้องมีใบเสร็จแสดงค่าใช้จ่ายตามจริง)
คำนวณ 1 - 2 คือ 60,000 บาท - 33,000 บาท = 27,000 บาท เป็นเงินได้สุทธิในประเภท 40 ( 8 )
หัก ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท (ใช้สิทธิ์ได้ทุกคนสำหรับการซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน) และหากใช้สิทธิ์ลดหย่อนอื่นๆ จะนำมาหักในขั้นตอนนี้
คำนวณ 3 - 4 คือ 27,000 บาท - 60,000 บาท = 0 บาท เป็นเงินได้สุทธิ
เงินได้ 0 - 150,000 บาทแรกไม่เสียภาษี

ดังนั้น นาย ข จะต้องยื่นแบบภาษี ภ.ง.ด 90 ประจำปีผ่านหน้าเว็บไซต์ efiling.rd.go.th หรือยื่นที่สำนักงานพื้นที่ของกรมสรรพากร แต่ไม่ต้องชำระเงิน

ตัวอย่างที่ 3


นาย ค เป็นสตรีมเมอร์มืออาชีพ มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก

ได้รับโดเนท เดือนมกราคม - มิถุนายน รวม 200,000 บาท
เสียค่าบริการ TipMe เดือนมกราคม - มิถุนายน 5,000 บาท ค่าจ้างแอดมิน 10,000 บาท
เนื่องจากรายได้ นาย ค ตามข้อ 1 เกิน 60,000 บาท จึงจะต้องยื่นภาษีครึ่งปี

กรณี นาย ค มีเงินเดือนจากงานประจำอีกทางหนึ่ง ยังไม่ต้องนำมาคิดในการยื่นภาษีครึ่งปี

การคำนวณภาษีครึ่งปีของนาย ค เป็นดังนี้

ก. รายได้ รวม 200,000 บาท (ก่อนหักค่าบริการ TipMe)
ข. ค่าใช้จ่ายตามข้อ 2 รวม 15,000 บาท
ค. คำนวณ ก - ข คือ 200,000 บาท - 15,000 บาท = 185,000 บาท เป็นเงินได้สุทธิในประเภท 40 ( 8 )
ง. หัก ค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท (ใช้สิทธิ์ได้ทุกคนสำหรับการซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน) และหากใช้สิทธิ์ลดหย่อนอื่นๆ จะนำมาหักในขั้นตอนนี้ (สามารถใช้ได้เพียงบางรายการ)
จ. คำนวณ ค - ง คือ 185,000 บาท - 30,000 บาท = 155,000 บาท เป็นเงินได้สุทธิ
ฉ. เงินได้ 0 - 150,000 บาทแรกไม่เสียภาษี คงเหลือ 155,000 - 150,000 = 5,000 บาท
ช. เงินได้ 150,000 บาทถัดไป (บาทที่ 150,001 - 300,000) เสียภาษี 5% = 5,000 บาท x 5% (0.05) = 250 บาท

ดังนั้น นาย ค จะต้องยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) และชำระภาษี 250 บาท ภายในวันที่ 30 กันยายน หากไม่ยื่นหรือยื่นล่าช้ากว่า 7 วันอาจถูกปรับ 2,000 บาท และคิดดอกเบี้ยเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย

ในครึ่งปีหลัง

ได้รับโดเนท เดือนกรกฎาคม - ธันวาคม รวม 200,000 บาท
เสียค่าบริการ TipMe เดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 5,000 บาท ค่าจ้างแอดมิน 10,000 บาท ค่าอัพเกรดคอมพิวเตอร์ 20,000 บาท รวม 35,000 บาท
รายได้ทั้งปีของ นาย ค คือ 1 + 4 = 400,000 บาท
เนื่องจากรายได้รวมทั้งปีเกิน 60,000 บาท จะต้องยื่นภาษีประจำปี

การคำนวณภาษีทั้งปีของนาย ค เป็นดังนี้

ซ. รายได้ รวมทั้งปีคือ 1 + 4 = 200,000 บาท + 200,000 บาท = 400,000 บาท (ก่อนหักค่าบริการ TipMe)
ฌ. ค่าใช้จ่ายตามข้อ 2 + 5 รวม 15,000 บาท + 35,000 บาท = 50,000 บาท
ญ. คำนวณ ช - ฌ คือ 400,000 บาท - 50,000 บาท = 350,000 บาท เป็นเงินได้สุทธิในประเภท 40 ( 8 )
ฎ. หัก ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และหากใช้สิทธิ์ลดหย่อนอื่นๆ จะนำมาหักในขั้นตอนนี้
ฏ. คำนวณ ญ - ฎ คือ 350,000 - 60,000 บาท = 290,000 บาท เป็นเงินได้สุทธิ
ฐ. เงินได้ 0 - 150,000 บาทแรก ไม่เสียภาษี คงเหลือ 290,000 - 150,000 = 140,000 บาท
ฑ. เงินได้ 150,000 บาทถัดไป (เงินได้ในส่วน 150,001 - 300,000 บาท) เสียภาษี 5% คำนวณ 140,000 x 5% (0.05) = 7,000 บาท
ฒ. หักภาษีครึ่งปีที่ชำระไว้แล้ว 250 บาทออก

ดังนั้น นาย ค จะต้องชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) เพิ่มอีก 7,000 บาท - 250 บาท = 6,750 บาท โดยสามารถยื่นภาษีครึ่งปีและทั้งปีผ่านหน้าเว็บไซต์ efiling.rd.go.th หรือยื่นที่สำนักงานพื้นที่ของกรมสรรพากร

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)



หากสตรีมเมอร์ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลมีรายได้ (ก่อนหักต้นทุนหรือค่าใช้จ่าย) มากกว่า 1,800,000 บาท (1.8 ล้านบาท) ในปีนั้นๆ จะต้อง จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้วยภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่มีรายได้ครบ 1.8 ล้านบาท

เมื่อจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จะมีหน้าที่ดังนี้

ต้องทำใบกำกับภาษีให้กับผู้โดเนททุกๆ ครั้งที่มีการโดเนท
ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) ทุกเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

ทั้งนี้เมื่อจดภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มในค่าบริการของ TipMe สามารถใช้เป็นภาษีซื้อ (Input VAT) ได้เพื่อลดภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ

สตรีมเมอร์นิติบุคคล



รายละเอียดการลงบัญชีอาจแตกต่างกันตามระบบดำเนินงานบัญชีนิติบุคคลแต่ละแห่ง

สตรีมเมอร์ประเภทนิติบุคคลจะต้องดำเนินการออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีให้กับผู้โดเนทในลักษณะขายเงินสดทุกครั้งที่ได้รับการโดเนท (ไม่สามารถออกใบเสร็จรับเงินให้ทาง TipMe ได้ เนื่องจากทาง TipMe ไม่ได้ซื้อสินค้าหรือบริการจากบริษัทลูกค้า)

หากได้รับโดเนทมากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี นิติบุคคลจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับลูกค้าบุคคลธรรมดา

สำหรับใบเสร็จรับเงินค่าบริการ สามารถดาวน์โหลดได้จากทางหน้าเว็บไซต์ หรือติดต่อเจ้าหน้าดูแลความสัมพันธ์ลูกค้าหากต้องการรับใบเสร็จทางไปรษณีย์

กรณีหัก ณ ที่จ่าย ลูกค้านิติบุคคลสามารถหัก ณ ที่จ่ายค่าบริการ 3% ได้ โดยนำส่งใบ หัก ณ ที่จ่ายมาตามที่อยู่ของบริษัท หลังจากได้รับใบหัก ณ ที่จ่ายแล้วจะได้รับเงินส่วนที่หักคืนพร้อมกับยอดโดเนทในรอบถัดไป

คำถาม - คำตอบ



ขอเอกสาร ใบหักภาษี ณ ที่จ่าย

TipMe ไม่สามารถออกใบหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ได้ เนื่องจากทางบริษัทไม่ได้ซื้อสินค้าหรือบริการจากสตรีมเมอร์ โดยเอกสารทางภาษีตามกฎหมายที่ TipMe ออกให้จะมีเฉพาะใบกำกับภาษีค่าบริการเท่านั้น

การออกใบหัก ณ ที่จ่ายให้ TipMe

เฉพาะลูกค้านิติบุคคลสามารถหัก ณ ที่จ่าย 3% ในส่วนค่าบริการได้ โดยนำส่งทางไปรษณีย์ให้ TipMe และ TipMe จะคืนเงินตามส่วนที่หักไปให้พร้อมยอดโดเนทในรอบถัดไป

เอกสารแสดงรายรับ

สามารถใช้หน้า สถิติ แสดงรายรับได้สำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดา และสำหรับลูกค้านิติบุคคลสามารถส่งออกรายการโดเนททั้งหมด 3 เดือนย้อนหลังเป็น CSV ได้

ยอดโอนเงินเข้าบัญชี คือรายได้หรือไม่

ยอดโอนเงินเข้าบัญชีไม่ใช่รายได้เพราะถูกหักค่าบริการแล้ว ในการคิดภาษีจะต้องแจกแจงเป็นยอดโดเนทก่อนหักค่าบริการคือรายได้ และค่าบริการที่ถูกหักไปเป็นค่าใช้จ่าย

ผู้จ่ายเงินได้สูงสุด

การยื่นภาษีจะต้องกรอกผู้จ่ายเงินได้มากที่สุดในปีนั้น ซึ่งจะต้องกรอกข้อมูลของผู้ที่โดเนทมากที่สุด (Top donator / ท็อปโดเนท) เนื่องจากไม่มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลนี้ไว้ให้เว้นไว้หรือกรอก 0100000000000 หรือเลขอื่นตามที่กรมสรรพากรกำหนด

ความรู้ด้านภาษี

TipMe ขอแนะนำแหล่งความรู้ สรุปความรู้ภาษี โดย iTAX

ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือไม่

กรณีสตรีมเมอร์มียอดโดเนทไม่ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มรวมในค่าบริการของ TipMe แล้ว ไม่จำเป็นต้องดำเนินการชำระเงินเพิ่มใดๆ
กรณีสตรีมเมอร์มียอดโดเนทมากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จำเป็นจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากยอดโดเนท (ก่อนหักค่าบริการ) โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระในค่าบริการของ TipMe ไปแล้ว จะนำเป็นภาษีซื้อนำไปลดหย่อนภาษีขายได้

ทั้งนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นคนละส่วนกับภาษีเงินได้ที่จำเป็นจะต้องเสียประจำปี ไม่ถือว่าเป็นการชำระภาษีประจำปีล่วงหน้า และไม่สามารถนำไปลดหย่อนในการยื่นภาษีเงินได้ประจำปีได้

ค่าบริการที่เสียคือเสียภาษีแล้วหรือไม่

การจ่ายค่าบริการของ TipMe ไม่ใช่การเสียภาษีให้รัฐบาลของสตรีมเมอร์แต่เป็นการจ่ายเงินค่าบริการของบริษัททิปมี สตรีมเมอร์ยังมีหน้าที่จะต้องยื่นภาษีเงินได้เมื่อมีรายได้เข้าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

TipMe มีการนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรหรือไม่

TipMe มีการนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีค่าบริการให้กรมสรรพากรเพื่อชำระภาษีของบริษัท

อัปเดตเมื่อ: 02/01/2024

บทความนี้เป็นประโยชน์หรือไม่?

แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ

ยกเลิก

ขอบคุณ!